จดทะเบียนสมรส ไม่ง่ายอย่างที่คิด จะเดินจูงมือสองคนไปอำเภอตัวเปล่าไม่ได้นะ มาดูกันว่าจะต้องเตรียมเอกสารอะไรกันบ้าง มีค่าธรรมเนียมไหม จดแล้วต้องทำการเปลี่ยนเอกสารอะไรบ้าง และข้อควรรู้ต่างๆเราได้รวบรวมไว้ให้แล้ว มาดูกันเลย
คุณสมบัติของผู้ที่จดทะเบียนสมรส
• ผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถจดทะเบียนสมรสได้ด้วยตัวเอง
• ผู้ที่มีอายุมากกว่า 17 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอมด้วย หากผู้ปกครองไม่ได้มาด้วยตัวเองจะต้องมีหนังสือให้ความยินยอมมาด้วย
• ผู้ที่อายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสกันเท่านั้น
• ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ
• จะต้องไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด และจะต้องไม่เป็นพี่น้องที่มีพ่อหรือแม่คนเดียวกัน
• ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่เป็นคู่สมรสของคนอื่น
• ผู้ที่รับบุตรบุญธรรมไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับบุตรบุญธรรมของตัวเองได้
กรณีที่ฝ่ายหญิงมีการหย่าร้าง ต้องการจะจดทะเบียนใหม่ สามารถจดได้หลังหย่าร้างกันแล้ว 310 วัน หรือสามารถจดทะเบียนใหม่ได้ทันทีก็ต่อเมื่อ
• คลอดบุตรแล้วในระหว่าง 310 วัน
• จดทะเบียนกับสามีคนเดิมที่เพิ่งหย่าร้างไป
• มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
• มีคำสั่งศาลอนุญาตให้สมรสใหม่ได้
เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส
กรณีจดทะเบียนสมรสครั้งแรก
• บัตรประจำตัวประชาชนของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ที่ยังไม่หมดอายุ หรือบัตรอื่นๆที่ทางราชการออกให้
• ทะเบียนบ้านตัวจริงและสำเนาทะเบียนบ้าน
• พยาน 2 คนที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เตรียมบัตรประชาชนมาด้วย
• แบบฟอร์ม คร. 1 หรือคำร้องขอจดทะเบียนและบันทึกทะเบียนครอบครัว สามารถขอได้ที่เขตแล้วกรอกข้อมูลตรงนั้นได้เลย
กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคยแต่งงานมาก่อน ให้เตรียมเอกสารนี้เพิ่ม
• หลักฐานการหย่าร้าง
• ใบสูติบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร หากคลอดบุตรก่อนจะมา จดทะเบียนสมรส
• กรณีคู่สมรสคนเก่าตายจะต้องมีใบมรณะบัตรมาด้วย
กรณีที่เป็นชาวต่างชาติ ให้เตรียมเอกสารนี้เพิ่ม
• สำเนาหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
• เอกสารรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูต หรือสถานกงสุล หรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น พร้อมคำแปลและรับรองว่าคำแปลถูกต้อง
ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส
• ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องและครบถ้วน
• ผู้ที่ทำการจดทะเบียนสมรสให้จะสอบถามข้อมูลทั่วไปของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
• ผู้ที่ทำการจดทะเบียนจะสอบถามการยินยอมในการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนคำนำหน้าของฝ่ายหญิง
• ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเซ็นเอกสารพร้อมกับพยาน 2 คน
• รับหลักฐานหรือใบทะเบียนสมรสได้เลย
ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส
• ทั้งสามีและภรรยาจะต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
• ฝ่ายหญิงจะมีสิทธิ์ในการใช้นามสกุลของฝ่ายชาย หรือจะไม่ใช้ก็ได้
• หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ มีสิทธิ์ขอถือสัญชาติไทยตามคู่สมรสได้
• มีสิทธิ์จัดการทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส หรือที่เรียกว่าสินสมรสร่วมกัน
• ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์รับมรดกของคู่สมรส เมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตก่อน
• มีสิทธิ์รับเงินจากทางราชการหรือผู้จ้าง เช่น บำเหน็จตกทอด เงินสงเคราะห์บุตร สิทธิ์ค่ารักษาพยาบาล
• สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าชดเชยจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสเสียชีวิตหรือบาดเจ็บได้
• หากคู่สมรสมีชู้สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
• บุตรสามารถรับมรดกจากผู้เป็นพ่อได้ สามารถใช้นามสกุลพ่อได้ เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
• ได้รับการลดหย่อนค่าภาษี
• หากสามีภรรยามีความผิดระหว่างกัน ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
สถานที่และช่วงเวลาในการจดทะเบียนสมรส
• สำนักงานทะเบียนเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ เปิดทำการเวลา 8:30-16:30 น. (มีพักเที่ยง) ไม่เสียค่าธรรมเนียม
• สำนักงานอำเภอทุกแห่ง เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ เปิดทำการเวลา 8:30-16:30 น. (มีพักเที่ยง) ไม่เสียค่าธรรมเนียม
หากต้องการจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่จะต้องติดต่อที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอของแต่ละจังหวัดล่วงหน้าก่อนวันงานอย่างน้อย 7 วัน มีค่าธรรมเนียม 200 บาท
เอกสารที่ต้องแก้ไขหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว
เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว หากฝ่ายหญิงต้องการที่จะเปลี่ยนคำนำหน้า หรือเปลี่ยนนามสกุล จะต้องแก้ไขเอกสารเหล่านี้ด้วย
• บัตรประชาชน
• ใบขับขี่
• หนังสือเดินทาง
• วีซ่า
• บัญชีธนาคารบัตรเครดิต
• ประกันสังคมประกันสุขภาพ
การจดทะเบียนสมรส เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้กับสามีภรรยาที่บ่งบอกว่าทั้งคู่แต่งงานมีเจ้าของแล้ว หากคู่รักคู่ไหนที่มีแพลนจะแต่งงาน หรือจะจดทะเบียน อย่าลืมเตรียมเอกสารให้พร้อม เมื่อไปถึงแล้วจะได้ไม่เสียเวลาและเสียฤกษ์ค่ะ
อ่านบทความ แหวนแต่งงานคู่ ราคาไม่เกิน 20,000 สวยเกินราคา เหมาะกับทุกคู่
เครดิตภาพจาก www.canva.com ManitaWedding, PraewWedding