งานแต่งงานพิธีเช้า ถือเป็นพิธีมงคลสมรสที่จัดตามธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จัดลำดับพิธีเป็นขั้นตอน เหมือนสุภาษิตไทยที่ว่า เข้าตามตรอกออกตามประตู ในงานแต่งงานพิธีเช้า บ่าวสาวจะเชิญญาติผู้ใหญ่ บุคคลสำคัญและคนสนิทมาร่วมงาน บางคู่จะเป็นพิธีเช้าและเลี้ยงฉลองในตอนเที่ยง ส่วนบางคู่ก็จัดพิธีเช้าและเลี้ยงฉลองในตอนเย็น หรือวันถัดไป
ลำดับขั้นตอนงานแต่งพิธีเช้า หากบ่าวสาวที่ยังไม่เคยเข้าพิธีแต่งงานอาจจะงงว่าต้องทำอะไรบ้าง ใช้เวลาเท่าไหร่ ควรทำพิธีไหนก่อน เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
พิธีสงฆ์
เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความเป็นสิริมงคล ถือคติที่ว่าทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน ในส่วนของพิธีเจริญพระพุทธมนต์และตักบาตรพระสงฆ์จะทำในช่วงเช้า เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้ากันเลย หากใครไม่สะดวกก็เลื่อนเป็น 11 โมง เลี้ยงพระฉันเพลก็ได้ แต่สำหรับ งานแต่งงานพิธีเช้า ส่วนใหญ่จะนิมนต์พระมาในช่วงเช้า ลำดับพิธีสงฆ์มีดังต่อไปนี้
1. เมื่อพระสงฆ์มาถึงสถานที่แต่งงานและประจำที่อาสนะสงฆ์แล้ว คู่บ่าวสาวจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา จากนั้นกราบพระพุทธรูป กราบพระสงฆ์และประเคนมงคลแฝด แป้งเจิม ขันน้ำมนต์ ให้กับประธานสงฆ์
2. พิธีกรหรือมัคทายกนำกล่าวบูชาพระรัตนตรัยและอาราธนาศีล จากนั้นพระสงฆ์จะสวดให้ศีลและจะเริ่มพิธีเจริญพระพุทธมนต์
3. พิธีกรหรือมัคทายกนำอาราธนาพระปริตร
4. พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ในบทมงคลสูตร
5. เจ้าบ่าวเจ้าสาวจุดเทียนน้ำมนต์
6. พระสงฆ์เริ่มสวดบทพาหุง เจ้าบ่าวเจ้าสาวจึงลุกไปตักบาตร
7. บ่าวสาวถวายข้าวพระพุทธ ประเคนอาหารแด่พระสงฆ์
8. เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จเริ่มกรวดน้ำ ตามด้วยพรมน้ำมนต์ หากต้องการให้ประธานสงฆ์เจิมหน้าผาก บ่าวสาวก็สามารถทำในขั้นตอนนี้ได้เลย
พิธีแห่ขันหมาก
พิธีสงฆ์จะเสร็จประมาณ 8:30 น. หลังจากนั้นบ่าวสาวจะต้องเตรียมตัวเข้าสู่พิธีแห่ขันหมาก โดยทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะเตรียมตั้งขบวนขันหมากที่เตรียมมาสู่ขอเจ้าสาว ฤกษ์งามยามดีสำหรับพิธีแห่ขันหมากก็คือเวลา 9 โมง 9 นาที
1. นำขบวนขันหมากด้วยเถ้าแก่หรือตัวแทนผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าบ่าว จะต้องเตรียมถือซองสำหรับผ่านประตูเงินประตูทองของฝั่งเจ้าสาวด้วย
2. เจ้าบ่าวถือพานธูปเทียนเดินขนาบข้างเถ้าแก่
3. ตามด้วยพ่อแม่เจ้าบ่าว ถือพานขันหมากเอกและพานสินสอด
4. ญาติพี่น้องหรือเพื่อนเจ้าบ่าวถือพานแหวน ผ่านสินสอดอื่นๆ พานขนม รวมถึงต้นกล้วยต้นอ้อยด้วย
ทางฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้ที่รอขบวนขันหมากอยู่ในบ้าน โดยมีการกั้นประตูเงินประตูทอง ถือเป็นสีสันของงานแต่งงานพิธีเช้าเลย ซึ่งเจ้าบ่าวอาจจะต้องทำภารกิจเพื่อผ่านประตูเงินประตูทองไปให้ได้ ในช่วงนี้เจ้าสาวจะต้องไปเก็บตัวในห้องก่อน เพื่อรอให้เจ้าบ่าวมารับ
พิธีสู่ขอ
หลังจากที่ขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวผ่านประตูเงินประตูทองมาแล้ว เจ้าบ่าวจะต้องเข้ามาในบ้านเพื่อทำการเจรจาสู่ขอกับฝั่งเจ้าสาว โดยให้เถ้าแก่หรือญาติผู้ใหญ่ทางฝั่งเจ้าบ่าวเป็นคนเจรจาสู่ขอ จากนั้นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะทำการตอบรับ
เจ้าบ่าวจึงจะขออนุญาตไปรับตัวเจ้าสาวมาเข้าร่วมพิธีแต่งงาน หลังจากนั้นแม่เจ้าสาวจะทำการเปิดพานสินสอด แล้วเรียงสินสอดไว้บนผ้าเงินหรือผ้าทองเพื่อตรวจนับตามธรรมเนียม
ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวตอก ข้าวเปลือก ดอกไม้มงคล ใบเงิน ใบทองลงบนสินสอด เมื่อโปรยครบทุกคนแล้วแม่เจ้าสาวจะทำการห่อสินสอดด้วยผ้า แล้วแบกขึ้นไว้บนบ่าตามประเพณี พร้อมกับกล่าวคำมงคล เช่น ห่อเงินนี้หนักจังเลย ข้างในต้องมีเงินทองมากมายแน่ๆ

พิธีสวมแหวนหมั้น
เมื่อมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือพิธีสวมแหวนหมั้น ก็ถือเป็นส่วนสำคัญอีกขั้นตอนนึงในงานแต่งงานพิธีเช้า โดยเจ้าบ่าวจะสวมแหวนให้เจ้าสาวก่อน เมื่อสวมแล้วเจ้าสาวจะก้มลงกราบที่ตักเจ้าบ่าว จากนั้นเจ้าสาวจะเป็นฝ่ายสวมแหวนให้เจ้าบ่าว แล้วทั้งคู่ก็หันไปกราบคุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่าย
พิธีไหว้ผู้ใหญ่ หรือพิธียกน้ำชา
หลังจากเสร็จพิธีสวมแหวน ลำดับต่อไปจะเป็นพิธีไหว้ผู้ใหญ่หรือยกน้ำชา โดยพิธีกรจะเชิญผู้ใหญ่เข้ามาในบริเวณพิธีการทีละคู่ บ่าวสาวก้มลงกราบผู้ใหญ่ แล้วส่งพานธูปเทียนแพให้ ผู้ใหญ่จะรับไหว้โดยใช้มือแตะที่พานและอวยพรให้บ่าวสาว หรือในบางพิธีจะมีการผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือด้วย หลังจากนั้นบ่าวสาวจะนำของที่ระลึกหรือที่เรียกกันว่าของรับไหว้มอบให้ผู้ใหญ่
หากเป็นพิธียกน้ำชา หลังจากที่บ่าวสาวก้มกราบผู้ใหญ่เสร็จก็จะยื่นถ้วยน้ำชาให้ ญาติผู้ใหญ่รับไปจิบเล็กน้อยและอวยพรให้บ่าวสาว
พิธีหลังงานพระพุทธมนต์
มาถึงช่วงสุดท้ายใน งานแต่งงานพิธีเช้า นั่นก็คือการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ บ่าวสาวจะเข้ามานั่งในโต๊ะสำหรับทำพิธี โดยจะมีประธานมาสวมพวงมาลัยและสวมมงคลแฝดให้บ่าวสาว หากบ่าวสาวไม่ได้ให้พระสงฆ์เจิมหน้าผาก ประธานในพิธีจะทำการเจิมหน้าผากให้ด้วย หลังจากนั้นประธานจะเริ่มหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ให้กับบ่าวสาวเป็นคู่แรก เพื่อเป็นสิริมงคล
ประธานในพิธีส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ครองรักกันมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน เช่น ปู่-ย่า ตา-ยาย พ่อ-แม่ เมื่อประธานในพิธีหลั่งน้ำเสร็จแล้ว แขกในงานก็สามารถเข้ามาหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ รวมถึงอวยพรให้บ่าวสาวได้เลย
พิธีส่งตัวเจ้าสาว
เมื่อแขกในงานหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ให้บ่าวสาวจนครบแล้ว พิธีสุดท้ายในช่วงเช้าก็คือการส่งตัวเจ้าสาว ตามความเชื่อแล้วจะต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำพิธีด้วย เช่น ข้าวตอก ธัญพืช ดอกไม้สำหรับโรยบนเตียงให้คู่บ่าวสาวนอน โดยจะใช้ผ้าปูเตียงผืนใหม่มาปู ตามความเชื่อบอกว่า ควรให้ผู้ใหญ่ที่สมรสแล้ว ไม่เคยทะเลาะกัน เป็นครอบครัวที่มีความสุข รักใคร่กลมเกลียวกันดีมาทำพิธีส่งตัวเจ้าสาว
อุปกรณ์สำหรับใช้ในพิธีส่งตัวเจ้าสาว
1. ชุดปูที่นอนใหม่ทั้งหมด
2. ข้าวตอกดอกไม้ เหรียญเงิน 1 ขัน
3. ถั่ว งา ข้าวเปลือก พืชมงคล (สามารถใช้ในพานขันหมากได้)
4. ฟักเขียว 1 ผล
5. รูปปั้นหรือตุ๊กตาแมว 1 ตัว
6. ไม้เท้า 1 อัน
7. หินบด 1 ชุด
ในระหว่างทำพิธี ญาติผู้ใหญ่จะโรยข้าวตอกดอกไม้ พืชมงคลต่างๆลงบนเตียง ในช่วงที่บ่าวสาวนอนบนเตียง พร้อมอวยพรแต่สิ่งดีๆให้กับบ่าวสาว เช่น มีความสุขมากๆ มีเงินมีทอง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับทำพิธีปัจจุบันได้ลดลงเหลือเพียงข้าวตอกดอกไม้ ถั่ว งาและธัญพืชต่างๆเพื่อความสะดวกขึ้น
งานแต่งงานพิธีเช้า อาจดูเหมือนว่ายุ่งยาก แต่ความจริงแล้วไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่บางพิธีอาจกินเวลานาน บ่าวสาวควรหาอะไรกินรองท้องไว้เลยจะได้ไม่หิว เพราะพิธีจะเสร็จในช่วงเที่ยงเลย การหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อม จะช่วยให้บ่าวสาวรันงานได้ง่ายมากขึ้น วันงานจะได้ไม่เหนื่อย
อ่านบทความ ขันหมาก มีอะไรบ้าง ในขบวนเจ้าบ่าว 2022
เครดิตภาพจาก Page : Bankampu Wedding, IG : weddingsquarecom, www.canva.com