สิ่งหนึ่งที่การันตีความมั่นคงของชีวิตคู่ได้นั่นก็คือ สินสอด เป็นความมั่นคงทางการเงินที่ฝ่ายชายจะพิสูจน์ให้พ่อแม่หรือญาติทางฝ่ายหญิงมั่นใจ โดยการคุยเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจจะต้องมีชั้นเชิงในการพูดคุยกันเล็กน้อย ให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายสบายใจ
สู่ขอก่อนแต่งงาน
เมื่อฝ่ายหญิงและฝ่ายชายตกลงปลงใจที่จะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน ตามประเพณีของไทยเรานั้น ฝ่ายชายจะต้องพาญาติผู้ใหญ่ไปทำการสู่ขอกับทางผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง โดยจะมีการพูดคุยถึงเรื่องสินสอดทองหมั้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความท้าทายมาก จะต้องประนีประนอมให้ทุกฝ่ายพอใจ แต่ก็จะต้องไม่อ่อนข้อจนเกินความสามารถของฝ่ายชายด้วย มีหลายคู่ที่ต้องยกเลิกหรือเลื่อนงานแต่งงานออกไป เพราะไม่สามารถตกลงจำนวนเงินกันได้
วันนี้เราขอเป็นตัวช่วยของว่าที่บ่าวสาว ในเรื่องของเคล็ดลับการคุยกับผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายให้รู้สึกสบายใจ และเข้าใจความหมายของสินสอดทองหมั้นกันมากขึ้น
สินสอดคืออะไร
ทรัพย์สินที่บ่งบอกถึงการยินยอมสมรส เป็นเสมือนค่าตอบแทน ทรัพย์สินของฝ่ายชายที่ให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง อยู่ในรูปแบบของเงินตรา ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่มีประเพณีนี้ ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน แอฟริกาหรือแม้กระทั่งงานแต่งของอิสลาม
ทองหมั้นคืออะไร
สินสอด ที่ไม่ใช่เงินตรา เป็นทรัพย์สินต่างๆที่มีค่า อย่างทองคำ เพชร ที่ดิน เครื่องประดับ รถ หรือหุ้นต่างๆ ตามประเพณีทองหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นสมบัติติดตัวตอนแต่งงาน เป็นเสมือนการรับขวัญลูกสะใภ้นั่นเอง
การตกลงสินสอดกับผู้ใหญ่
ก่อนที่จะมาหาผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ฝ่ายชายอาจจะต้องลองคำนวณมูลค่าของสินสอดมาเบื้องต้นก่อน ในปัจจุบันได้มีโปรแกรมคำนวณมูลค่าสินสอดออกมาด้วย โดยอ้างอิงจากรายได้ต่อเดือน ตำแหน่งหน้าที่การงานของฝ่ายหญิง และภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ซึ่งฝ่ายชายอาจจะลองคำนวณและตรึกตรองดูว่าเป็นจำนวนที่จ่ายไหวหรือไม่ หรืออาจจะต้องมีช่วงระดับให้อยู่ระหว่างจำนวนเท่าไหร่ เพื่อการตกลงที่ง่ายขึ้น การพูดคุยจะต้องมีความนอบน้อม พร้อมกับเทคนิคในการคุยด้วย
1. เจ้าสาวลองถามผู้ใหญ่ถึงตัวเลขในใจ
แน่นอนว่าก่อนที่ฝ่ายชายจะพาญาติผู้ใหญ่มาสู่ขอ ทางฝ่ายหญิงก็อาจจะต้องเกริ่นกับทางพ่อแม่หรือผู้ปกครองก่อน พร้อมกับถามถึงตัวเลขในใจว่าต้องการเท่าไหร่ พ่อแม่บางท่านอาจจะยังไม่แน่ใจและเรียกไม่ถูก ฝ่ายหญิงอาจจะลองคำนวณให้เบื้องต้น แล้วให้ตัวเลขใกล้เคียงกับที่ทางฝ่ายชายคำนวณมา
ตรงนี้ฝ่ายหญิงอาจกระซิบบอกตัวเลขที่ทางฝ่ายชายจ่ายไหวด้วยก็ได้ เพื่อดูท่าทีของท่านว่าจะโอเคไหม เราขอแนะนำให้บอกตัวเลขที่ฝ่ายชายจะจ่ายเป็นระดับที่น้อยที่สุดก่อน หากท่านคิดว่าน้อยเกินไปค่อยปรับมูลค่าเพิ่มขึ้น
2. นัดเจอกับผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
เป็นการแสดงความเคารพให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงได้รับรู้ถึงความตั้งใจที่ฝ่ายชายต้องการจะแต่งงานด้วย โดยจะมีการเจรจากันอย่างเป็นมิตร สุภาพและใจเย็น หากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายรู้ตัวเลขคร่าวๆก่อนจะมาเจอกัน การเจรจาก็จะง่ายขึ้น อาจจะนัดทานข้าว หรือฝ่ายชายพาผู้ใหญ่มาสู่ขอถึงที่บ้าน เพื่อเป็นการให้เกียรติฝ่ายหญิงด้วย
3. สื่อสารให้ชัดเจน
หากผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงยังไม่พอใจมูลค่าของ สินสอด ให้ฝ่ายชายเพิ่มมูลค่าขึ้นทีละนิด แต่ให้อยู่ในระดับที่จ่ายไหว โดยการเจรจาอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจจะตกลงกันว่ามีทรัพย์สินอื่นๆ อย่างทองคำ ที่ดินเพิ่มให้ด้วย
เมื่อเจรจากันชัดเจนแล้ว ก็ให้ทำข้อตกลงเพื่อเป็นการการันตีมูลค่าที่ฝ่ายหญิงจะได้รับ การทำข้อตกลงที่ชัดเจนจะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย ไม่ให้เกิดความขัดแย้งในภายหลังด้วย
การแต่งงานเป็นเรื่องความรักของคนสองคน เป็นจุดเริ่มต้นของบทเรียนใหม่ในชีวิต ที่ทัังฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะต้องแสดงให้เห็นถึงความรักที่มีต่อกัน ควบคู่ไปกับการจัดการความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวด้วย สินสอด ทองหมั้น จะเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าฝ่ายชายจะดูแลฝ่ายหญิงเป็นอย่างดี ให้ทางผู้ใหญ่เชื่อใจได้ว่าสามารถฝากชีวิตของลูกสาวไว้ได้ ใครที่กำลังวางแผนแต่งงาน ลองนำเทคนิคเล็กๆน้อยๆในการเจรจาสู่ขอไปปรับใช้ดูได้นะคะ รับรองว่าแฮปปี้ทั้งสองฝ่ายแน่นอน
อ่านบทความ ฤกษ์แต่งงาน ตามวันเกิด เปิดดวงเริ่มต้นชีวิตคู่แบบปังๆ
เครดิตภาพ www.canva.com