นอกจากบ่าวสาวที่เป็นตัวเอกของงานแต่งงานแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ที่หลายคนรอคอยนั่นก็คือ ช่วงเวลาแห่งการตัด เค้กแต่งงาน ก้อนใหญ่ ที่ตั้งอยู่กลางงาน โดยการตัดเค้กในงานฉลองมงคลสมรสเป็นที่นิยมนับถือเป็นแนวปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบของเค้กจะมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนขึ้น แล้วแต่ความสะดวกและความชอบ มีทั้งเค้กเป็นปอนด์ คัพเค้ก เค้กรูปทรงต่างๆที่ทันสมัยขึ้น ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์และความชอบของบ่าวสาวเลย เรามาดูกันว่าเค้กในงานแต่งงานมีที่มาอย่างไร ทำไมถึงต้องมีพิธีนี้ในงานแต่งงานด้วย
เค้กแต่งงานมีที่มาอย่างไร
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยราวๆ 1,900 ปีที่แล้ว ชาวโรมันนิยมนำข้าวสาลีที่เป็นเอกลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ มาอบกับเกลือให้เป็นเค้กชิ้นเล็กๆ สำหรับกินในงานแต่ง แต่สมัยนั้นไม่ได้มีการใช้มีดตัดแบบในปัจจุบัน วิธีการของสมัยนั้นก็คือเจ้าบ่าวจะกินในส่วนหัวหรือส่วนด้านบนของเค้ก แล้วก็จะหักแบ่งออกมานำไปโปรยลงบนหัวของเจ้าสาว เป็นสัญลักษณ์ถึงชีวิตคู่ที่ยืนยาว มีความสุข ถือเป็นการอวยพรให้เจ้าสาวแข็งแรง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ส่วนแขกที่มาร่วมงานก็จะได้รับเค้กคนละนิดละหน่อย เพราะเชื่อว่าถือเป็นเคล็ดที่ดี มีความสุข และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับบ่าวสาว
นอกจากนี้ชาวโรมันยังเชื่ออีกว่า เค้กแต่งงานคือสัญลักษณ์ของการเปิดบริสุทธิ์ของเจ้าสาว การหักขนมปังเปรียบเสมือนการที่เจ้าสาวยอมสละพรหมจรรย์ และแสดงให้เห็นว่าเธอมีชายหนุ่มที่ตีตราจองและมีพันธะทางครอบครัวอย่างเป็นทางการ
ต้นกำเนิดของเค้กแต่งงานหลายชั้น
มากันที่ทางฝั่งเกาะอังกฤษกันบ้าง สมัยนั้นเค้กแต่งงานยังเป็นเพียงแค่ก้อนแป้งจืดๆ ไม่มีความหวานหรือความสวยงามใดๆ ตัวเค้กจะถูกนำมาวางซ้อนกันหลายๆชั้น ยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองของบ่าวสาว จากนั้นให้บ่าวสาวมาจูบกันเหนือยอดเค้ก หากเค้กไม่คว่ำลงมาแน่นอนว่าทั้งคู่จะมีชีวิตคู่ที่ยืนยาวและมีความสุข และนี่ก็คือที่มาของตุ๊กตาตัวแทนบ่าวสาวที่ยืนจูบกันอยู่บนยอดเค้กในปัจจุบัน
หลังจากนั้นในช่วงปี 1660 ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เชฟฝรั่งเศสคนหนึ่งได้เดินทางไปที่ลอนดอน เห็นประเพณีการวางเค้กซ้อนๆกันของชาวอังกฤษแล้วพังลงมา จึงได้คิดค้นสูตรเค้กที่แยกออกมาเป็นชั้นๆ แต่จะต้องมีการเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนใช้จริงหลายวัน แล้วสมัยนั้นยังไม่มีตู้เย็น วิธีการถนอมเค้กให้อยู่ได้นานคือใช้มันหมูเคลือบเค้กให้แข็ง เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเค้กแห้ง เมื่อถึงวันงานก็ขูดเอามันหมูออก แต่ด้วยความที่เป็นมันหมูจึงมีกลิ่นและมีความมัน ทำให้เค้กไม่อร่อยเหมือนเดิม จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการใช้น้ำตาลแทน นอกจากไม่เหม็นแล้วยังทำให้เค้กน่ากินขึ้นอีกด้วย
เค้กแต่งงาน ตัวแทนความหวานของบ่าวสาว
หลังจากนั้นเค้กแต่งงานก็ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มมีการวางขนมเค้กให้เป็นก้อนเดียวกัน แล้วเพิ่มเป็นหลายๆชั้นเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งธรรมเนียมของปัจจุบันหลังจากที่บ่าวสาวทำพิธีตัดเค้กแล้ว ก็จะนำเค้กไปมอบให้กับบุคคลต่างๆในครอบครัวทั้งสองฝ่าย เพื่อแสดงความเคารพ และยังมีประเพณีที่ให้คู่บ่าวสาวป้อนเค้กให้กันและกัน เพื่อสื่อความหมายของการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ที่จะต้องคอยดูแลกันและกันตลอดไป
เค้กแต่งงานในยุคปัจจุบันก็จะเน้นที่การดีไซน์ ไม่จำเป็นต้องมีหลายชั้น มีเพียงชั้นเดียวหรือสองชั้นกำลังดี แต่งเค้กเก๋ๆให้เข้ากับธีมงาน ทำให้เค้กกลายเป็นพร็อพตกแต่งงานไปเลย แถมยังเป็นของโปรดของเด็กๆในงานด้วย เพราะรสชาติที่หอมหวาน เนื้อเค้กนุ่มๆ บางร้านก็มีสอดไส้แยมผลไม้ด้วย บ่าวสาวคู่ไหนที่กำลังมองหาไอเดียเค้กในแต่งงาน 2 ชั้นเก๋ๆ วันนี้เราก็มีมาฝากกันค่ะ
สรุปแล้ว เค้กแต่งงาน คือตัวแทนแห่งความรักและความสุข เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของคู่บ่าวสาว ที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันให้ตลอดรอดฝั่ง ดูแลประคับประคองกันอย่างดี การตัดเค้กในงานมงคลสมรส จึงเป็นประเพณีที่ช่างหอมหวาน และความหมายดีมากๆเลย
อ่านบทความ แหวนหมั้นใส่นิ้วไหน หากใครกำลังสงสัย เรามีคำตอบให้คุณ
เครดิตรูปภาพจาก www.pinterest.com